เชื้อราในปาก (Oral thrush) การรักษาเชื้อราในปาก

เชื้อราในปาก / เชื้อราช่องปาก / เชื้อราในปาก (Oral candidiasis หรือ Oral candidosis, Oral thrush, Oropharyngeal candidiasis, Moniliasis, Muguet, Thrush) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) ทำให้มีเชื้อราสะสมในช่องปากจนเห็นเป็นฝ้าสีขาวข้นที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก

เชื้อราในปาก (Oral thrush) การรักษาเชื้อราในปาก

เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า แคนดิดา (Candida) เป็นเชื้อราประจำถิ่นของผิวหนังและของเนื้อเยื่อในช่องปาก ลำคอ และอาจรวมไปถึงหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ และที่อวัยวะเพศ ซึ่งมีอยู่ในร่างกายเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว โดยในภาวะที่ร่างกายยังปกติเชื้อราชนิดนี้จะไม่เพิ่มจำนวนจนก่อให้เกิดโรคได้ เพราะยังมีเชื้อแบคทีเรียอีกหลายชนิดอยู่ด้วยกันที่ช่วยควบคุมไม่ให้เชื้อราแคนดิดาแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นได้ แต่ในกรณีที่เกิดการเสียสมดุลระหว่างเชื้อราแคนดิดากับเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น (เช่น สาเหตุจากการกินยาปฏิชีวนะติดต่อกันนานจนทำให้เชื้อแบคทีเรียถูกทำลายหมด) หรือเกิดจากการที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือบกพร่อง ก็จะส่งผลให้เชื้อราแคนดิดาเป็นอิสระและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนก่อให้เกิดการติดเชื้อแล้วทำให้ร่างกายกลายเป็นโรคขึ้นมาได้ ซึ่งโรคจากการติดเชื้อราแคนดิดานี้ ถ้าเกิดที่เยื่อเมือกในช่องปาก ลำคอ คอหอย ก็จะเรียกว่า เชื้อราในช่องปาก (Oropharyngeal Candidiasis) ถ้าเกิดที่หลอดอาหารจะเรียกว่า เชื้อราในหลอดอาหาร (Esophageal Candidiasis) หรือถ้าเกิดที่อวัยวะเพศหญิงก็จะเรียกว่า เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis) เป็นต้น

การรักษาเชื้อราในปาก

  1. โรคเชื้อราในช่องปากอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นหรือสงสัยว่าเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก ผู้ป่วยไม่ควรดูแลรักษาโรคนี้ด้วยตัวเอง แต่ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลก่อนเสมอ โดยเฉพาะเมื่อโรคเกิดในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว เพราะโดยปกติแล้วคนกลุ่มนี้มักจะไม่ติดเชื้อราในช่องปาก ยกเว้นในกรณีที่มีโรคที่ส่งผลถึงภูมิต้านทานโรคต่ำซ่อนเร้นอยู่
  2. เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก ดังนี้ การให้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายตัว เช่น แอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B), เจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet), ไนสแตติน (Nystatin), โคลไตรมาโซล (Clotrimazole), อีโคนาโซล (Econazole), ฟลูโคนาโซล (Fluconazole), คีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ไอทราโคนาโซล (Itraconazole), ไมโคโนโซล (Miconazole), โพซาโคนาโซล (Posaconazole) เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้จะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น ยาทา ยาอม ยาบ้วนปาก ยารับประทาน ยาเหน็บ และยาฉีด ทั้งนี้การที่แพทย์จะเลือกใช้ยาใดหรือรูปแบบใดนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรค ความรุนแรงของอาการ และดุลยพินิจของแพทย์ (โดยปกติแพทย์จะให้ใช้ยาเฉพาะที่ก่อน เช่น ยาบ้วนปาก ยาทา ยาอม ยาเหน็บ
  3. ภายหลังการรักษา โดยทั่วไปโรคนี้จะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ และโรคมักจะจำกัดอยู่เฉพาะการติดเชื้อในช่องปากเท่านั้น แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำมาก เชื้ออาจลุกลามเป็นการติดเชื้อทั่วตัวจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้
  4. ในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือใช้ยารักษาแล้วยังไม่ได้ผล หรือสงสัยว่าเป็นโรคเอดส์ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป (ถ้าพบว่าเป็นโรคเอดส์ จำเป็นต้องใช้ยารักษาเชื้อราให้ได้ผล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา)

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้เรื่อย ๆ ไม่บ่อยนักในคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้บ่อยในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน ในผู้สูงอายุ และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเบาหวาน ฯลฯ แต่จะไม่ค่อยพบในวัยรุ่นและในคนวัยหนุ่มสาวที่มีภูมิคุ้มกันปกติ